กฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน 2566

by admin
7K views

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ 16 สิงหาคม 2565)
ข้อ 2 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549
ข้อ 3 ในกฎกระทรวงนี้
“กรรมการความปลอดภัย” หมายความว่า กรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
“คณะกรรมการความปลอดภัย” หมายความว่า คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
“ผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร” หมายความว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บริหารซึ่งมีหน้าที่และอำนาจทำการแทนนายจ้างในการจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษ หรือการวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ และได้รับมอบหมายเป็นหนังสือให้เป็นผู้แทนนายจ้างระดับบริหารเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้
“หน่วยงานความปลอดภัย” หมายความว่า หน่วยงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

หมวด 1 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

ส่วนที่ 1 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยตำแหน่ง
————————
ข้อ 6 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยตำแหน่งมีสองระดับ ดังต่อไปนี้
(1) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน จป หัวหน้างาน
(2) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร จป บริหาร

ข้อ 7 นายจ้างของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 และบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจำนวนสองคนขึ้นไป และสถานประกอบกิจการตามบัญชี 3 ที่มีลูกจ้างจำนวนยี่สิบคนขึ้นไป ต้องจัดให้ลูกจ้างระดับหัวหน้างานซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ 8 ทุกคน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานของสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่มีลูกจ้างครบจำนวนดังกล่าว
ในกรณีที่ลูกจ้างระดับหัวหน้างานไม่มีคุณสมบัติตามข้อ 8 ให้นายจ้างดำเนินการให้ลูกจ้างนั้นเข้ารับการฝึกอบรมตามข้อ 8 (1) เพื่อแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน ทั้งนี้ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่นายจ้างแต่งตั้งให้เป็นลูกจ้างระดับหัวหน้างาน

ข้อ 8 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานต้องเป็นลูกจ้างระดับหัวหน้างาน และมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน
(2) เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549
(3) มีคุณสมบัติตามข้อ 15 ข้อ 18 หรือข้อ 21 แล้วแต่กรณี

ข้อ 9 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) กำกับดูแลลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ปฏิบัติตามคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
(2) วิเคราะห์งานในหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อค้นหาความเสี่ยงหรืออันตรายเบื้องต้นจาก การทำงาน โดยอาจร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิค ขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ
(3) จัดทำคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ เพื่อเสนอคณะกรรมการความปลอดภัยหรือนายจ้าง แล้วแต่กรณี และทบทวนคู่มือดังกล่าวตามที่นายจ้างกำหนด โดยนายจ้างต้องกำหนดให้มีการทบทวนอย่างน้อยทุกหกเดือน
(4) สอนวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้องแก่ลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
(5) ตรวจสอบสภาพการทำงานของเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนลงมือปฏิบัติงานประจำวัน
(6) กำกับดูแลการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบ
(7) รายงานการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างต่อนายจ้าง และแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีหน่วยงานความปลอดภัย ให้แจ้งต่อหน่วยงานความปลอดภัยทันทีที่เกิดเหตุ
(8) ตรวจสอบหาสาเหตุการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไข ปัญหาต่อนายจ้าง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า
(9) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมความปลอดภัยในการทำงาน
(10) ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารมอบหมาย

ข้อ 10 นายจ้างของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 และบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจำนวนสองคนขึ้นไป และสถานประกอบกิจการตามบัญชี 3 ที่มีลูกจ้างจำนวนยี่สิบคนขึ้นไป ต้องจัดให้ลูกจ้างระดับผู้บริหารซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ 11 ทุกคน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่มีลูกจ้างครบจำนวนดังกล่าว
ในกรณีที่ลูกจ้างระดับผู้บริหารไม่มีคุณสมบัติตามข้อ 11 ให้นายจ้างดำเนินการให้ลูกจ้างนั้นเข้ารับการฝึกอบรมตามข้อ 11 (1) เพื่อแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร ทั้งนี้ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่นายจ้างแต่งตั้งให้เป็นลูกจ้างระดับผู้บริหาร

ในกรณีที่ไม่มีลูกจ้างระดับผู้บริหาร ให้นายจ้างเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารข้อ 11 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารต้องเป็นลูกจ้างระดับผู้บริหาร และมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร
(2) เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549
(3) มีคุณสมบัติตามข้อ 21

ข้อ 12 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทุกระดับซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของตน
(2) เสนอแผนงานหรือโครงการด้านความปลอดภัยในการทำงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อนายจ้าง
(3) ส่งเสริม สนับสนุน และติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานให้เป็นไปตามแผนงานหรือโครงการ เพื่อให้มีการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการ
(4) กำกับดูแลและติดตามให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างตามที่ได้รับรายงานหรือตามข้อเสนอแนะของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน คณะกรรมการความปลอดภัย หรือหน่วยงานความปลอดภัย

ส่วนที่ 2 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยหน้าที่เฉพาะ

ข้อ 13 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยหน้าที่เฉพาะของสถานประกอบกิจการมีสามระดับ ดังต่อไปนี้
(1) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค
(2) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง
(3) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ
ข้อ 14 นายจ้างของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจำนวนยี่สิบคนขึ้นไป แต่ไม่ถึงห้าสิบคน ต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ 15 อย่างน้อยหนึ่งคน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่มีลูกจ้างครบจำนวนดังกล่าว

ข้อ 15 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค
(2) เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549
(3) มีคุณสมบัติตามข้อ 18 หรือข้อ 21 แล้วแต่กรณี

ข้อ 16 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบและเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(2) วิเคราะห์งานเพื่อชี้บ่งอันตรายและกำหนดมาตรการป้องกันและขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัยเสนอต่อนายจ้าง
(3) แนะนำให้ลูกจ้างปฏิบัติตามคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
(4) ตรวจสอบหาสาเหตุการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไข ปัญหาต่อนายจ้าง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า
(5) รวบรวมสถิติและจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างเสนอต่อนายจ้าง
(6) ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย

ข้อ 17 นายจ้างของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจำนวนห้าสิบคนขึ้นไป แต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยคน ต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ 18 อย่างน้อยหนึ่งคน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานเฉพาะระดับเทคนิคขั้นสูง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่มีลูกจ้างครบจำนวนดังกล่าว

ข้อ 18 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิคหรือเทียบเท่า และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง และผ่านการประเมิน
(2) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือเทียบเท่า และได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง และผ่านการประเมิน
(3) มีคุณสมบัติตามข้อ 21
(4) เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549
(5) เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 หรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2534 และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง และผ่านการประเมิน
(6) เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2540 และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง และผ่าน การประเมิน

ข้อ 19 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบและเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(2) วิเคราะห์งานเพื่อชี้บ่งอันตรายและกำหนดมาตรการป้องกันและขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัยเสนอต่อนายจ้าง
(3) วิเคราะห์แผนงานหรือโครงการและข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ และเสนอแนะมาตรการความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้าง
(4) ตรวจประเมินการปฏิบัติงานของสถานประกอบกิจการให้เป็นไปตามแผนงาน โครงการ หรือมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน
(5) แนะนำให้ลูกจ้างปฏิบัติตามข้อบังคับและคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
(6) แนะนำ ฝึกสอน และอบรมลูกจ้าง เพื่อให้การปฏิบัติงานปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน
(7) ตรวจสอบหาสาเหตุและวิเคราะห์การประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อนายจ้างเพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า
(8) รวบรวมสถิติ วิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างเสนอต่อนายจ้าง
(9) ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย

ข้อ 20 นายจ้างของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 ที่มีลูกจ้างจำนวนสองคนขึ้นไป และสถานประกอบกิจการตามบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจำนวนหนึ่งร้อยคนขึ้นไป ต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ 21 อย่างน้อยหนึ่งคน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่มีลูกจ้างครบจำนวนดังกล่าว

ข้อ 21 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือเทียบเท่าตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
(2) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ และผ่านการประเมิน
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และเป็นผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าห้าปีในสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 หรือสถานประกอบกิจการตามบัญชี 2 และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ และผ่านการประเมิน ภายในห้าปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
(4) เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549
(5) เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2540 และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ และผ่านการประเมิน ภายในห้าปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
(6) เคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 หรือเป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2534 และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ และผ่านการประเมิน ภายในห้าปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

ข้อ 22 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบและเสนอแนะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(2) วิเคราะห์งานเพื่อชี้บ่งอันตรายและกำหนดมาตรการป้องกันและขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัยเสนอต่อนายจ้าง
(3) ประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(4) วิเคราะห์แผนงานหรือโครงการ และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ และเสนอแนะมาตรการความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้าง
(5) ตรวจประเมินการปฏิบัติงานของสถานประกอบกิจการให้เป็นไปตามแผนงาน โครงการ หรือมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน
(6) แนะนำให้ลูกจ้างปฏิบัติตามคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
(7) แนะนำ ฝึกสอน และอบรมลูกจ้าง เพื่อให้การปฏิบัติงานปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน
(8) ตรวจวัดและประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงานหรือดำเนินการร่วมกับบุคคล หรือนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(9) เสนอแนะต่อนายจ้างเพื่อให้มีการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
(10) ตรวจสอบหาสาเหตุและวิเคราะห์การประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อนายจ้างเพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า
(11) รวบรวมสถิติ วิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างเสนอต่อนายจ้าง
(12) ให้ความรู้และอบรมด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแก่ลูกจ้างก่อนเข้าทำงานและระหว่างทำงาน เพื่อทบทวนความรู้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(13) ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย

ข้อ 23 นายจ้างต้องจัดให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพได้รับการฝึกอบรมหรือมีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานเพิ่มเติมปีละไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมงตามหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยนายจ้างต้องแจ้งให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่การดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ

ข้อ 24 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ พ้นจากการเป็นลูกจ้างของสถานประกอบกิจการ ให้นายจ้างจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดังกล่าวแทน แล้วแต่กรณี ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากการเป็นลูกจ้าง

หมวด 2 คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของสถานประกอบกิจการ

ข้อ 25 นายจ้างของสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างจำนวนห้าสิบคนขึ้นไป ต้องจัดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีลูกจ้างครบจำนวนดังกล่าว
คณะกรรมการความปลอดภัยตามวรรคหนึ่ง ต้องประกอบด้วย นายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร เป็นประธานกรรมการความปลอดภัย ผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชา และผู้แทนลูกจ้าง เป็นกรรมการความปลอดภัย
ในการแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยตามวรรคสอง หากสถานประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง เป็นสถานประกอบกิจการในบัญชี 1 หรือบัญชี 2 ให้นายจ้างแต่งตั้งผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงหรือระดับวิชาชีพจำนวนหนึ่งคน แล้วแต่กรณี เป็นกรรมการความปลอดภัยและเลขานุการ
ในการแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยตามวรรคสอง หากสถานประกอบกิจการตามวรรคหนึ่งเป็นสถานประกอบกิจการในบัญชี 3 ให้นายจ้างแต่งตั้งผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน เป็นกรรมการความปลอดภัยและเลขานุการ

ข้อ 26 คณะกรรมการความปลอดภัยตามข้อ 25 ให้มีจำนวน ดังต่อไปนี้ โดยต้องมีจำนวนกรรมการความปลอดภัยซึ่งเป็นผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชาและกรรมการความปลอดภัย ซึ่งเป็นผู้แทนลูกจ้างในสัดส่วนที่เท่ากัน
(1) ไม่น้อยกว่าห้าคน สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างจำนวนห้าสิบคนขึ้นไป แต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยคน
(2) ไม่น้อยกว่าเจ็ดคน สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างจำนวนหนึ่งร้อยคนขึ้นไป แต่ไม่ถึงห้าร้อยคน
(3) ไม่น้อยกว่าสิบเอ็ดคน สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างจำนวนห้าร้อยคนขึ้นไป

ข้อ 27 การได้มาซึ่งกรรมการความปลอดภัยตามข้อ 25 ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) กรรมการความปลอดภัยซึ่งเป็นผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชา ให้นายจ้างแต่งตั้งจากลูกจ้างระดับหัวหน้างานหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรืออาจแต่งตั้งจากแพทย์หรือพยาบาลประจำสถานประกอบกิจการก็ได้
(2) กรรมการความปลอดภัยซึ่งเป็นผู้แทนลูกจ้าง ให้มาจากลูกจ้างซึ่งไม่ใช่ลูกจ้างระดับบังคับบัญชาเลือกกันเอง

ข้อ 28 นายจ้างต้องจัดให้กรรมการความปลอดภัยได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรคณะกรรมการความปลอดภัย ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับเลือก เว้นแต่กรรมการความปลอดภัยผู้นั้นเคยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวมาแล้ว

ข้อ 29 กรรมการความปลอดภัยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี
ให้นายจ้างดำเนินการแต่งตั้งหรือจัดให้มีการเลือกกรรมการความปลอดภัยใหม่ตามข้อ 27 ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันก่อนวันที่กรรมการความปลอดภัยครบวาระ
ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการแต่งตั้งหรือจัดให้การเลือกกรรมการความปลอดภัยใหม่ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้กรรมการความปลอดภัยซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการความปลอดภัยซึ่งได้มาใหม่เข้ารับหน้าที่
ในกรณีที่จำนวนลูกจ้างในสถานประกอบกิจการลดลงเหลือน้อยกว่าห้าสิบคน ให้กรรมการความปลอดภัยดำเนินการต่อไปจนกว่าครบวาระ

ข้อ 30 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการความปลอดภัยพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(1) พ้นจากการเป็นผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร ผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชา ผู้แทนลูกจ้างหรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงหรือระดับวิชาชีพ
(2) พ้นจากการเป็นลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ

ข้อ 31 การได้มาซึ่งกรรมการความปลอดภัยแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้นายจ้างดำเนินการตามข้อ 27 โดยอนุโลม และให้กรรมการความปลอดภัยซึ่งได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับเลือก แทนตำแหน่งที่ว่าง อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการความปลอดภัยซึ่งตนแทน

ข้อ 32 คณะกรรมการความปลอดภัยมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) จัดทำนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ เสนอต่อนายจ้าง
(2) จัดทำแนวทางการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ การประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง หรือความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เสนอต่อนายจ้าง
(3) รายงานและเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางปรับปรุงแก้ไขสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้าง เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ผู้รับเหมา และบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานหรือเข้ามาใช้บริการในสถานประกอบกิจการ
(4) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
(5) พิจารณาคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการเพื่อเสนอความเห็นต่อนายจ้าง
(6) สำรวจการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการทำงานและรายงานผลการสำรวจดังกล่าว รวมทั้งสถิติการประสบอันตรายที่เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการนั้นในการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยทุกครั้ง
(7) พิจารณาโครงการหรือแผนการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงโครงการหรือแผนการอบรมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านความปลอดภัยของลูกจ้าง หัวหน้างาน ผู้บริหาร นายจ้าง และบุคลากรทุกระดับเพื่อเสนอความเห็นต่อนายจ้าง
(8) จัดวางระบบให้ลูกจ้างทุกคนทุกระดับมีหน้าที่ต้องรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยต่อนายจ้าง
(9) ติดตามผลความคืบหน้าเรื่องที่เสนอต่อนายจ้าง
(10) รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี รวมทั้งระบุปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัยเมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบหนึ่งปีเสนอต่อนายจ้าง
(11) ประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
(12) ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย

ข้อ 33 ให้คณะกรรมการความปลอดภัยประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง หรือเมื่อกรรมการความปลอดภัยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งร้องขอ
การประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการความปลอดภัยกำหนด
ในการประชุมแต่ละครั้ง ให้แจ้งกำหนดการประชุมและระเบียบวาระการประชุมให้กรรมการความปลอดภัยทราบไม่น้อยกว่าสามวันก่อนถึงวันประชุม เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน
เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือภยันตรายใด ๆ ที่เป็นเหตุให้ลูกจ้างหรือบุคคลภายนอกสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ให้มีการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยโดยไม่ชักช้าเพื่อดำเนินการทบทวนรายงานการสอบสวนอุบัติเหตุ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางป้องกันแก้ไขต่อนายจ้าง

ข้อ 34 นายจ้างต้องเผยแพร่และปิดประกาศรายชื่อและหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการความปลอดภัยโดยเปิดเผย ณ สถานประกอบกิจการเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันเพื่อให้ลูกจ้างทราบ
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการความปลอดภัย ให้นายจ้างดำเนินการตามวรรคหนึ่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เปลี่ยนแปลง
ให้นายจ้างปิดประกาศมติของที่ประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานประกอบกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีมติ

ข้อ 35 นายจ้างต้องจัดทำสำเนาบันทึกรายงานผลการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการความปลอดภัย เก็บไว้ในสถานประกอบกิจการเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันจัดทำ และพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบ เว้นแต่มีการร้องทุกข์ว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมีการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน แม้จะพ้นเวลาที่กำหนด ให้นายจ้างเก็บรักษาเอกสารนั้นไว้จนกว่าจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
สำเนาบันทึกรายงานผลการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการความปลอดภัยตามวรรคหนึ่ง นายจ้างอาจจัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน

ข้อ 36 นายจ้างต้องเก็บหลักฐานการเปลี่ยนแปลงกรรมการและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดังกล่าวไว้ในสถานประกอบกิจการเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี และพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบ โดยอาจจัดเก็บในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

ข้อ 37 เมื่อนายจ้างได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการความปลอดภัยเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแล้ว หากข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นข้อเสนอแนะตามข้อ 32 (3) ให้นายจ้างปฏิบัติตามข้อเสนอแนะโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่ข้อเสนอแนะเป็นข้อเสนอแนะตามข้อ 32 (1) (2) (5) หรือ (7) ให้นายจ้างพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร และหากนายจ้างไม่อาจดำเนินการตามข้อเสนอแนะได้ ให้แจ้งเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ให้คณะกรรมการความปลอดภัยทราบด้วย

หมวด 3 หน่วยงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ข้อ 38 นายจ้างของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 ต้องจัดให้มีหน่วยงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อดูแลและปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่จัดตั้งสถานประกอบกิจการดังกล่าว

ข้อ 39 นายจ้างในสถานประกอบกิจการตามบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจำนวนสองร้อยคนขึ้นไป ต้องจัดให้มีหน่วยงานความปลอดภัยเพื่อดูแลและปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีลูกจ้างครบจำนวนดังกล่าว
ในกรณีที่จำนวนลูกจ้างในสถานประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง ลดลงจนมีจำนวนน้อยกว่าสองร้อยคนแต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน ให้สถานประกอบกิจการนั้นคงหน่วยงานความปลอดภัยไว้

ข้อ 40 หน่วยงานความปลอดภัยมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) วางแผนการบริหารความเสี่ยงของสถานประกอบกิจการและดูแลให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
(2) จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุและอุบัติภัย และการควบคุมความเสี่ยงภายในสถานประกอบกิจการเสนอต่อนายจ้าง
(3) จัดทำคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
(4) จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลซึ่งต้องสอดคล้องกับการทำงานแต่ละประเภทตามที่กฎหมายกำหนดเสนอต่อนายจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างหรือผู้ที่เกี่ยวข้องใช้ในขณะปฏิบัติงาน
(5) ส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิชาการและการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายในการทำงานหรือการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานในสถานประกอบกิจการ
(6) จัดอบรมเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานแก่ลูกจ้างที่เข้าทำงานใหม่ก่อนให้ปฏิบัติงาน รวมทั้งลูกจ้างซึ่งต้องทำงานที่มีความแตกต่างไปจากงานเดิมที่เคยปฏิบัติอยู่และอาจเกิดอันตรายด้วย
(7) ประสานการดำเนินงานความปลอดภัยในการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานประกอบกิจการ รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
(8) ตรวจประเมินระบบความปลอดภัยในการทำงานในภาพรวมของสถานประกอบกิจการ
(9) รวบรวมผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทุกระดับและติดตามผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนงานของสถานประกอบกิจการ พร้อมทั้งรายงานให้นายจ้างและคณะกรรมการความปลอดภัยทราบทุกสามเดือน
(10) ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย

ข้อ 41 นายจ้างตามข้อ 38 และข้อ 39 ต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัยและไม่เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ จำนวนหนึ่งคน เป็นผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัยประจำสถานประกอบกิจการ เพื่อทำหน้าที่เฉพาะด้านบริหาร บังคับบัญชา และรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของหน่วยงานความปลอดภัย
ในการแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัยตามวรรคหนึ่ง หากบุคคลที่นายจ้างแต่งตั้งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ ให้บุคคลดังกล่าวได้รับการยกเว้นไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย
ในกรณีที่ผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัยพ้นจากการเป็นลูกจ้างของสถานประกอบกิจการ นายจ้างต้องจัดให้มีผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัยแทนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัยเดิมพ้นจากการเป็นลูกจ้าง

หมวด 4 การขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน และผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย

ข้อ 42 นายจ้างต้องนำรายชื่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน ระดับบริหาร ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ และผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย ไปขึ้นทะเบียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายจ้างแต่งตั้งบุคคลดังกล่าว

ข้อ 43 การฝึกอบรมเพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย หรือคณะกรรมการความปลอดภัยตามกฎกระทรวงนี้ นายจ้างจะจัดการฝึกอบรมเองหรือให้ผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรมเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ หลักสูตรการฝึกอบรม คุณสมบัติของวิทยากร และการดำเนินการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 44 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องจัดให้มีการประเมินตามข้อ 18 (1) (2) (5) และ (6) และข้อ 21 (2) (3) (5) และ (6)
หลักเกณฑ์การประเมินตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 45 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน ระดับบริหาร ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ หรือผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย ในสถานประกอบกิจการพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากหน้าที่ แล้วแต่กรณี นายจ้างต้องแจ้งการพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทราบภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากหน้าที่ หรือบุคคลดังกล่าวอาจใช้สิทธิแจ้งก็ได้

หมวด 5 การแจ้งและการส่งเอกสาร

ข้อ 46 เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยหรือกรรมการความปลอดภัย ให้นายจ้างส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าวต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง

ข้อ 47 ให้นายจ้างจัดส่งรายงานผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายสองครั้ง โดยครั้งแรกภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน และครั้งที่สองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ทั้งนี้ ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 48 ในกรณีที่กฎกระทรวงนี้มิได้กำหนดวิธีการแจ้งหรือส่งเอกสารไว้เป็นการเฉพาะ การส่งเอกสารหรือหลักฐานต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ให้นายจ้างแจ้งหรือส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่อธิบดีประกาศกำหนดเป็นหลัก ในระหว่างที่ยังไม่สามารถแจ้งหรือส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้แจ้งหรือส่งตามวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดไปพลางก่อน

บทเฉพาะกาล

ข้อ 49 ให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน และหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย ซึ่งนายจ้างได้แต่งตั้งตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน และผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัยตามกฎกระทรวงนี้

ข้อ 50 ให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานประกอบกิจการตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ ใช้บังคับ เป็นคณะกรรมการความปลอดภัยตามกฎกระทรวงนี้ จนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง

ข้อ 51 ให้หน่วยงานความปลอดภัยตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 เป็นหน่วยงานความปลอดภัยตามกฎกระทรวงนี้
ให้ไว้ ณ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565
สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

บัญชีท้ายกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565

บัญชี 1

ลำดับ
สถานประกอบกิจการ

  1. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการทำเหมืองตามกฎหมายว่าด้วยแร่
  2. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
  3. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับปิโตรเคมี
  4. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
  5. อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการแยกก๊าซธรรมชาติ

บัญชี 2

ลำดับ
สถานประกอบกิจการ

  1. อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์
  2. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร
  3. อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม
  4. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากยาสูบ
  5. อุตสาหกรรมสิ่งทอ
  6. อุตสาหกรรมเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกาย
  7. อุตสาหกรรมเครื่องหนัง
  8. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากไม้
  9. อุตสาหกรรมกระดาษหรือผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากกระดาษ
  10. อุตสาหกรรมการผลิตสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์
  11. อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์หรือเวชภัณฑ์ทางการแพทย์
  12. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง
  13. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก
  14. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ
  15. อุตสาหกรรมโลหะหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ
  16. อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  17. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า
  18. อุตสาหกรรมเครื่องจักรหรือเครื่องมือกล
  19. อุตสาหกรรมยานพาหนะ ชิ้นส่วนยานพาหนะ หรืออุปกรณ์เสริมสำหรับยานพาหนะ
  20. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
  21. อุตสาหกรรมเครื่องประดับ
  22. อุตสาหกรรมเครื่องดนตรี
  23. อุตสาหกรรมอุปกรณ์กีฬาออกกำลังกาย
  24. อุตสาหกรรมของเล่น
  25. อุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์
  26. อุตสาหกรรมการผลิต การจัดส่ง หรือการจ่ายไฟฟ้า
  27. อุตสาหกรรมการผลิตหรือการบรรจุก๊าซ
  28. อุตสาหกรรมการผลิตถ่านโค้ก
  29. อุตสาหกรรมการผลิต การเก็บ หรือการจำหน่ายไอน้ำ
  30. อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์หรือการเพาะปลูก
  31. สถานีบริการตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
  32. คลังน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง
  33. การให้บริการบำบัดน้ำเสียหรือกำจัดของเสียตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
  34. อุตสาหกรรมการนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่
  35. อุตสาหกรรมการแต่งแร่ การขุดแร่รายย่อย หรือการร่อนแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่
  36. การก่อสร้าง การดัดแปลง การซ่อมแซม หรือการรื้อถอนอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
  37. อุตสาหกรรมการขนส่ง
  38. การบริการการเดินอากาศตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
  39. กิจการคลังสินค้า กิจการไซโล หรือกิจการห้องเย็นตามกฎหมายว่าด้วยคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น
  40. กิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับ การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
  41. การติดตั้ง การซ่อม หรือการซ่อมบำรุงเครื่องจักร
  42. โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
  43. กิจการนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
  44. ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจค้าส่ง
  45. ศูนย์การจัดประชุมและการแสดงสินค้า
  46. โรงพยาบาล
  47. การทดสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติการทางกายภาพ เคมี ชีวภาพ หรือวิศวกรรม
  48. การขายและการบำรุงรักษายานยนต์หรือการซ่อมยานยนต์
  49. สวนสัตว์หรือสวนสนุก

บัญชี 3

ลำดับ
สถานประกอบกิจการ

  1. ธุรกิจสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
  2. ธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  3. สหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
  4. การประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตหรือการประกันวินาศภัย ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย
  5. โรงรับจำนำตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ
  6. โรงถ่ายทำภาพยนตร์หรือละคร
  7. สวนพฤกษศาสตร์
  8. สนามกีฬาหรือการนันทนาการ
  9. สถานที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง
  10. สำนักงานบริหารของสถานประกอบกิจการตามบัญชี 1 และบัญชี 2

เล่ม 139 ตอนที่ 39 ก ราชกิจจานุเบกษา 17 มิถุนายน 2565

หมายเหตุ :-  เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 บัญญัติให้นายจ้างจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานและบุคลากรจะต้องขึ้นทะเบียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ และการขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานและบุคลากรดังกล่าว เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกำกับ ดูแล และบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ อันจะทำให้การดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

เกี่ยวกับเรา

jorportraining บริการฝึกอบรม จป หัวหน้างาน จป บริหาร จป เทคนิค คปอ

ข่าวสารความปลอดภัย

@2024 – Jorportraining. Developed website and SEO by iPLANDIT